วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

คำถามท้ายบทที่ 8

1. การนำกระบวนการพัฒนาหลักสูตรมาใช้ ในการวางแผนพัฒนาหลักสูตร จะมีสาระสำคัญในประเด็นใดบ้าง
  ในอดีตสถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้บรรลุจุดหมายตามหลักสูตรกลางที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้เท่านั้น ปัจจุบันแนวความคิดดังกล่าวเปลี่ยนไป มีการกระจายอำนาจและมอบหมายให้สถานศึกษามีอำนาจตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น จึงมีผู้นำแนวความคิดนี้บรรจุไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อให้บังเกิดผลในการปฏิบัติ ดังข้อความในวรรคสอง มาตรา 27 ที่ว่า ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ (สำนักงานปฏิรูปการศึกษา  ม.ป.ป.: 15)
จากข้อความตามวรรคนี้แสดงว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะต้องจัดทำสาระในรายละเอียดตามกรอบของหลักสูตรแกนกลางและจัดทำหลักสูตรอื่นบางส่วนเพิ่มเติม เพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนและความต้องการของท้องถิ่นนั้น ๆ  ดังนั้นบทบาทของสถานศึกษาโดยเฉพาะผู้บริหารและคณะครูจะต้องรับผิดชอบงานทางด้านการจัดทำรายละเอียดของหลักสูตรในทุกเนื้อหาสาระเพิ่มเติม
ทั้งนี้เพื่อให้หลักสูตรตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นให้มากที่สุด ประกอบกับสถานศึกษามีบุคลากรที่มีความพร้อมที่จะกำหนด รายละเอียดสาระของหลักสูตรเพิ่มเติมได้เอง
            ในการพัฒนาหลักสูตรระดับสถานศึกษานั้น นอกจากเป็นบทบาทของบุคลากรของสถานศึกษาโดยตรงแล้ว สถานศึกษาอาจเชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยจัดทำหลักสูตรให้แก่สถานศึกษาได้ มาช (Marsh, 1997: 8) ได้กล่าวว่า ผู้ที่จะจัดทำหลักสูตรให้แก่โรงเรียนมาจากหลายแหล่ง จากบุคลากรในโรงเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มบุคคลจากอุตสาหกรรมและชุมชน เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจนถึงนักการเมือง
            การที่บุคคลของสถานศึกษามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร โดยเฉพาะผู้บริหารและครูผู้สอน จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าถึงและเข้าใจความสำคัญ ทิศทางของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง เพราะได้มีการอภิปราย การตรวจสอบ และการหาข้อยุติอย่างรอบคอบ เป็นที่แน่ชัดว่าการจัดการเรียนการสอนของครูที่ดำเนินตามหลักสูตรที่ตนมีส่วนร่วมสร้างขึ้นมาเอง จะทำให้การจัดการสอนสนองความต้องการของผู้เรียนและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้มากกว่าการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่มีผู้กำหนดมาให้เรียบร้อยแล้ว
            นักวิชาการด้านการพัฒนาหลักสูตรต่างเห็นพ้องต้อง กันว่าการกระจายอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญ จึงบัญญัติศัพท์ที่เกี่ยวกับแนวคิดในการสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรเองไว้มากมาย เช่น การพัฒนาหลักสูตรที่ยึดโรงเรียนเป็นฐาน (School-based curriculum development) การพัฒนาหลักสูตรที่ยึดโรงเรียนเป็นหลัก (School-focused curriculum development) พร้อมทั้งมีความพยายามที่จะมอบอำนาจการตัดสินใจและการบริหารจัดการให้แก่ครูใหญ่หรือผู้บริหารโรงเรียน โดยบัญญัติศัพท์เรียกแนวความคิดนี้ว่า การบริหารจัดการที่ยึดแหล่งปฏิบัติการเป็นฐาน (Site-based Management) หรือการบริหารจัดการที่ยึดโรงเรียนเป็นฐาน (School-based Management) เป็นต้น

2. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรสถานศึกษา และหลักสูตรท้องถิ่น เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

การจัดทำหลักสูตรโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับท้องถิ่นนั้น  สิ่งที่ควรทำความเข้าใจให้ตรงกันคือ
กรอบหลักสูตรท้องถิ่น  เป็นกรอบแนวทางกว้าง ๆ ที่ระบุเป้าหมาย/จุดเน้นของท้องถิ่น  สาระการเรียนรู้หรือเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับท้องถิ่น  และแนวทางการประเมินคุณภาพผู้เรียนในท้องถิ่น  สถานศึกษาสามารถนำไปเป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเหล่านั้นในฐานะที่เป็นสมาชิกในสังคมนั้น ๆ  ในเอกสารกรอบหลักสูตรท้องถิ่นอาจให้ตัวอย่างของรายวิชาเพิ่มเติมเกี่ยวกับท้องถิ่นได้  แต่รายวิชาที่นำเสนอนั้นเป็นเพียงแนวทาง  มิใช่สิ่งที่กำหนดให้โรงเรียนต้องสอน
  สิ่งที่ระบุเป็นสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นในกรอบหลักสูตรท้องถิ่นนั้น  ครูผู้สอนสามารถสอดแทรกเข้าไปในรายวิชาต่าง ๆ ทั้ง  ๘  กลุ่มสาระการเรียนรู้ได้  หรือหากสถานศึกษาเห็นว่ามีสิ่งสำคัญที่ต้องการจะเน้นและแยกสอนเป็นการเฉพาะ  เช่น  การสอนจักสาน  เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ก็สามารถเปิดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมก็ได้  และไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดก็อยู่ในหลักสูตรสถานศึกษาทั้งสิ้น  มิใช่แยกเป็นหลักสูตรสถานศึกษาและหลักสูตรท้องถิ่นจากกัน
  หลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในระดับสถานศึกษาคือ  “หลักสูตรสถานศึกษา” สิ่งที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานซึ่งกำหนดให้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางหรือเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นท้องถิ่น  ก็อยู่ในหลักสูตรสถานศึกษาทั้งหมด
 แนวการนำกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่นสู่การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  
              โครงสร้างของหลักสูตรที่สถานศึกษากำหนดให้สอดคล้องกับกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่นในส่วนของสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น  สามารถดำเนินการได้หลายลักษณะ  เช่น
๑.  สอดแทรกในรายวิชาพื้นฐาน  ที่มีตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงความเป็นท้องถิ่น  โดยอาจปรับกิจกรรมการเรียนการสอน  ปรับเนื้อหา  ปรับ/เลือกใช้สื่อการเรียนรู้  บูรณาการในรายวิชาต่าง ๆ
๒.  จัดทำเป็นรายวิชาเพิ่มเติม  สถานศึกษาอาจจัดทำรายวิชาที่เป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐาน  หรือรายวิชาที่เป็นสาระการเรียนรู้
๓.  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนพัฒนาเต็มตามศักยภาพ  และส่งเสริมความสามารถของผู้เรียน
๔.  การจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมจุดเน้น  เป็นการจัดสภาพแวดล้อม  บรรยากาศทางกายภาพของโรงเรียนที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาตามจุดเน้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น