ความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology :ICT) ทำให้ทักษะที่จำเป็นสำหรับคนใน ยุคศตวรรษที่ 21 มีความแตกต่างไปจากยุคศตวรรษที่ 20 เหตุเนื่องจากงานที่เคยใช้คนทำงานกับเครื่องจักรกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีโทรคมนาคมได้ขยายขีดความสามารถจนสามารถทำงานแทนที่คนได้ ทำให้สัดส่วนแรงงานลดลงเกิดขึ้นในงานที่ใช้สัมผัสรับรู้อย่างจำเจและงานที่ใช้แรงงานแบบซ้ำๆซากๆ ซึ่งเป็นงานที่ป้อนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำแทน แต่สัดส่วนแรงงานระดับชาติบางส่วนที่เพิ่มขึ้นในงานที่เน้นการคิดอย่างผู้เชี่ยวชาญและต้องใช้ การสื่อสารที่ซับซ้อนซึ่งเป็นงานที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำแทนได้
องค์ประกอบของการคิดอย่างเชี่ยวชาญคือ การเชื่อมโยงแบบแผนหรือระบบอย่างมีประสิทธิผลโดยใช้ความรู้อย่างละเอียดและการรู้เท่าทันความคิด (metacognition) ซึ่งการค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองโดยที่วิธีการมาตรฐานทั่วไปใช้ไม่ได้ผลคือทักษะที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ในโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีการสื่อสารอันซับซ้อน โดยในแต่ละวินาทีมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมากมายทั้งแบบวัจนภาษา (verbal) และแบบอวัจนภาษา (nonverbal) โดยที่ทิศทางของข้อมูลมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะการสื่อสารจะพัฒนาไปอย่างที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นคนจึงต้องมีความเชี่ยวชาญในการสื่อสารที่ซับซ้อนขึ้นจากยุคเดิม ต้องมีไหวพริบในการตอบคำถามเฉพาะหน้าอย่างฉับพลัน และควบคุมการเจรจา ถกเถียง ที่ไม่เป็นระเบียบได้อย่างราบรื่น หรือถ้าเป็นครูก็ต้องเป็นครูที่เชี่ยวชาญในการสื่อสารและมีไหวพริบในการจัดการและควบคุมห้องเรียนที่วุ่นวายให้เป็นห้องเรียนที่มีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ราบรื่น และสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ที่ชัดเจน
ทักษะการร่วมมือทำงานนับว่าเป็นอีกทักษะหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อคนในศตวรรษที่ 21 มากเพราะความสำเร็จของงานในระบบเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมมากขึ้น โดยที่ความเชี่ยวชาญและบทบาทของสมาชิกในทีมต่างช่วยเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งพนักงานในศตวรรษที่ 21 จะสามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้โดยใช้ปฏิสัมพันธ์ผ่านสื่อ (mediated interaction) กับเพื่อนร่วมงานในอีกเมือง อีกประเทศ หรืออีกซีกโลกได้โดยไม่เคยพบปะกันเลย ดังนั้นทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อร่วมทำงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและทักษะนี้น่าจะมีความซับซ้อนมากขึ้นในความเจริญที่มีอย่างไม่หยุดยั้ง
จากความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนี้ทำให้เราได้รับข้อมูลข่าวสารมากมายที่ไหล่บ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในศตวรรษที่ 21 เราคงไม่ค้นหาข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุดอย่างในศตวรรษที่ 20 แต่เราสามารถค้นหาข้อมูลจากโปรแกรมค้นหาสมัยใหม่ซึ่งอาจได้ข้อมูลหลายหมื่นหลายแสนชิ้นภายในไม่กี่วินาที แต่ข้อมูลเหล่านั้นคงมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ หรืออาจพบข้อมูลที่ขัดแย้งกัน ดังนั้นความสามารถในการกรองข้อมูลข่าวสารจึงเป็นอีกทักษะหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้คนสามารถเลือก แยกแยะ และสกัดเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่สำคัญต่อการตัดสินใจ เพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อพิจารณาถึงการจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบันตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552: 25) ที่ได้นำเสนอแนวทางการจัด การเรียนรู้โดยเน้น “การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยผู้เรียนจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเป็นเครื่องมือที่จะนำพาตนเองไปสู่เป้าหมายของหลักสูตร ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ กระบวนการสร้างความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการทางสังคม กระบวนการเผชิญสถานการณ์และแก้ปัญหา กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง กระบวนการปฏิบัติ ลงมือทำจริง กระบวนการจัดการ กระบวนการวิจัย กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง และกระบวนการพัฒนาลักษณะนิสัย ซึ่งผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เมื่อนำมาเทียบเคียงกับทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ที่ควรได้รับการพัฒนาแล้วนับว่าเป็นหลักสูตรที่มีความพยายามให้ครูผู้สอนได้พัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ของตนเองมากขึ้น แต่ยังไม่เน้นย้ำที่ชัดเจนในเรื่องของทักษะสำคัญในการใช้เทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโรงเรียนในปัจจุบันนี้ยังถือว่าเป็นแนวทางเดิมแบบศตวรรษที่ 20 ซึ่งใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิผลของการสอนแบบเก่า เช่น การใช้โปรแกรมประมวลผลคำเพื่อเพิ่มผลงาน การใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งาน การใช้โปรแกรมช่วยคำนวณข้อมูล ซึ่งเป็นการเพิ่มความสะดวกในการทำงาน แต่การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากไอซีทีได้อย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตีความ ตัดสินใจ และใช้สารสนเทศในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานและการใช้ชีวิตของคนในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นแนวโน้มการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาครูและผู้เรียนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น